ประวัติบีโธเฟ่น
บีโธเฟ่นเป็นอัจฉริยะทางด้านการประพันธ์ดนตรีแนวคลาสสิก ที่มีผลงานทางดนตรีมีเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่และมีสีสันไม่น้อยไปกว่างานของโมสาร์ทเลย เขาถือกำเนิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1770 ในครอบครัวที่ยากจน ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลไรน์ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี พ่อของเขาชื่อ โจฮันน์ ฟาน บีโธเฟน มีอาชีพเป็นนักร้องเสียงเทนเนอร์ประจำวงดนตรีของเจ้าเมือง แม่ชื่อ มาเรีย มักดาเลนา เป็นผู้หญิงที่เรียบร้อย อ่อนหวาน ใจดี มีความรักและเอาใจใส่ต่อลูกๆ ทุกคน บีโธเฟนเป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวนทั้งหมด 7 คน ความยากจนของครอบครัวทำให้ชีวิตในวัยเด็กของเขาเป็นไปอย่างยากลำบาก ประกอบกับพ่อเป็นคนที่มีอารมณ์ร้าย เป็นคนขี้เหล้าเมาหยำเปใช้จ่ายเงินในการซื้อเหล้าหมด ไม่เอาใจใส่ดูแลต่อความทุกข์สุขของครอบครัวเท่าท่าควร บีโธเฟนเป็นเด็กที่มีสารรูปขี้ริ้วขี้เหร่ เงียบขรึม และขี้อาย พ่อเริ่มสอนให้เล่นไวโอลินและเปียโนก่อนที่เขาจะมีอายุ 4 ขวบ แต่เขาเล่นได้ไม่ดีดังที่พ่อหวัง จึงทำให้พ่อโมโหและทำโทษเขาด้วยวิธีเอาไม้เคาะที่ตาตุ่มบ่อยๆ ปีที่บีโธเฟนเกิด "วูล์ฟกัง อมาดิอุส โมสาร์ท" นักดนตรีเอกของโลกมีชื่อเสียงกระฉ่อนทั่วยุโรปในฐานะนักดนตรีอัจฉริยะ โจฮันน์ ฟาน บีโธเฟน มีความใฝ่ฝันทะเยอทะยานที่จะให้ลูกชายของเขามีความสามารถและมีชื่อเสียงทางดนตรีโด่งดังเหมือนกับโมสาร์ท พ่อของเขาพยายามเคี่ยวเข็ญลูกชายฝึกฝนเล่นดนตรีอย่างเข้มงวดกวดขันที่สุด จับเขาหัดไวโอลินตั้งแต่ 5 ขวบ เคี่ยวเข็ญให้ท่องจำ และให้ถือไวโอลินตลอดเวลา แต่กระนั้นก็ดี อัจฉริยภาพทางดนตรีของบีโธเฟนก็ยังไม่ปรากฏออกมา นอกจากจะฝึกซ้อมไวโอลินและเปียโนแล้ว พ่อยังบังคับให้เขาเรียนออร์แกนและคลาเวียร์กับเพื่อนคู่หูของพ่อ การเรียนก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล เรียนไม่เป็นเวล่ำเวลา เพราะเมื่อพ่อและเพื่อนของกลับมาจากร้องเพลงก็จะมาปลุกให้เขาลุกขึ้นมาท่องโน้ตและเล่นคลาเวียร์ให้ฟัง แม้ว่าเขาจะง่วงแสนง่วงจนลืมตาแทบไม่ขึ้น พ่อก็จะฉุดกระชากลากมาให้เล่นให้ฟังจนได้
ความพยายามอยู่ทีไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ในที่สุดการเขี่ยวเข็ญของพ่อก็เป็นผลสำเร็จ บีโธเฟนเริ่มมีความสนใจและชื่นชอบการเล่นดนตรี อัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของเขาเริ่มค่อย ๆ ฉายแววออกมา เขาเต็มใจในการเล่นดนตรีและเริ่มฝึกฝนไวโอลินและออร์แกนอย่างจริงจัง จนมีความชำนาญพอที่จะออกโรงได้เมื่อเขามีอายุ 8 ขวบได้แสดงคอนเสิร์ตต่อหน้าประชาชนเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าได้รับการปรบมือจากผู้ฟังอย่างเกรียวกราวและชื่นชม ทำให้พ่อของเขามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเขามีอายุได้ 11 ขวบ บิดาก็ให้เขาไปเป็นพนักงานเปียโนชั้นรอง ต่อมาอีก 2 ? 3 เดือน ก็ได้เป็นผู้เคาะจังหวะดนตรีวงอุปรากร ประจำโรงละครอีเลกเตอร์ เขามีแววที่จะเป็นนักดนตรีที่ดีได้ ตลอดระยะเวลาที่เขาคลุกคลีอยู่ในงานชิ้นนี้ เขาก็มีความก้าวหน้าในทางที่ดีอยู่เสมอ จากความสามารถของเขานี่เอง พ่อจึงได้ส่งเขาเข้าโรงเรียนและให้ไปเรียนดนตรีอย่างจริงจังกับครูดนตรีที่มีชื่อเสียง เขาได้เอาใจใส่ฝึกฝนในการดนตรีอย่างจริงจัง เรียนอยู่ได้ 2 ? 3 ปี ก็สามารถเล่นเพลงยากๆ ของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้หลายเพลง เช่น Prelude และ Fugue ของบาคได้ทั้ง 48 เพลง ซึ่งนับว่าเก่งมากสำหรับเด็กอายุเพียง 11 ขวบ
จะว่าไปแล้วช่วงชีวิตในวัยเด็กของบีโธเฟนนั้นถูกเลี้ยงดูจากคุณปู่ที่เป็นนักดนตรี สิ่งนี้เองที่ทำให้บีโธเฟนมีความสนใจทางด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก แต่ก็น่าเสียดายที่ปู่ของเขาเสียชีวิตลงในตอนที่บีโธเฟนมีอายุได้เพียง 10 ขวบเท่านั้นเอง หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1786 บีโธเฟนเดินทางไปเวียนนาไปเรียนดนตรีกับโมสาร์ทนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น ภายหลังจากที่โมสาร์ทได้ยินเสียงดนตรีที่บีโธเฟนบรรเลงออกมานั้น เขาถึงกับกล่าวออกมาว่า ?จงคอยดูเด็กน้อยคนนี้ให้ดี สักวันหนึ่งเพลงของเขาจะดังก้องไปทั่วโลก? บีโธเฟนฝึกดนตรีอย่างหนักทุกวันและเริ่มแต่งเพลง และไม่นานนักหลังจากที่เขามาถึงเวียนนา แม่ของเขาก็เสียชีวิตลงด้วยโรควัณโรค ในขณะที่แม่ตายนั้นเขามีอายุเพียง 17 ปี เขาต้องรับภาระดูแลครอบครัวแทนแม่ เขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือเจือจุนครอบครัวด้วยการสมัครเข้าเล่นดนตรีในสำนักของเจ้าเมืองบ้าง รับสอนเด็กๆ ที่ชอบทางดนตรี เมื่อเขาอายุ 22 ปี เขาได้ย้ายไปอยู่ที่เวียนนา และเข้าเรียนดนตรีกับไฮเดิน ในตอนแรกเขามีความนิยมชมชอบในตัวครูมาก แต่ไม่นานนักก็เกิดมีความคิดเห็นขัดแย้งกับครูของเขา ไฮเดินรู้สึกไม่พอใจกับลูกศิษย์คนนี้นัก เพราะเป็นคนแข็งกระด้าง ท่าทางเงอะงะ ตลอดจนมีความคิดเห็นนอกแบบนอกแผนเชื่อมั่นในตนเองเกินไป ไม่เอาใจใส่ในคำสอนของครูในเรื่องกฎความกลมกลืนของเสียง ทางฝ่ายบีโธเฟนก็เห็นว่าไฮเดินจู้จี้และแก่ทฤษฎีเกินไป ชอบดำเนินตามรอยแบบแผนเก่าๆ และที่สำคัญคือไฮเดินไม่ชอบเพลงทริโอของเขา จึงเกิดขัดใจกัน ในที่สุดเขาจึงออกไปเรียนกับคนอื่น
ณ นครเวียนนาบีโธเฟนก็ได้ตระเวนเล่นดนตรีไปในที่ต่างๆ จนชื่อเสียงทางเปียโนของเขาเป็นที่รู้จักกันดีทั่วเวียนนา ได้รับความนิยมมากการเล่นของเขาเต็มไปด้วยลีลาและความรู้สึกที่ระบายออกมาอย่างรุนแรงและงดงาม เขามีลูกศิษย์ตลอดจนชนชั้นสูงมาเรียนกับเขามากขึ้น พวกชนชั้นสูงของเวียนนาไม่น้อยที่นิยมเพลงและซื้อบทเพลงของเขาไปเล่นตามวัง จากความสามารถทางดนตรีของเขา ทำให้เจ้าชายและเจ้าหญิงลิคนอฟสกี้ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในหมู่ชนชั้นสูงนิยมในตัวเขา ได้เชื้อเชิญให้เขาไปพำนักอยู่ในวังและรับเป็นผู้อุปถัมภ์ในทางการเงินและอื่นๆ แก่เขา ขณะที่เขาพักอยู่ในวังเขามีความสะดวกสบายและมีความสุขพอควร ถึงแม้ว่าหน้าตาของเขาจะขี้ริ้วขี้เหร่ มีกิริยาท่าทางซุ่มซ่ามเป็นบ้านนอก แต่งกายปอนๆ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา และผิดนัดบ่อยๆ มีอิสระเต็มที่ อยากเล่นอะไร ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นโดยไม่ต้องเกรงใจใคร บางครั้งก็แสดงกิริยาหยาบคาย หุนหันเอาแต่ใจตัว ขณะที่เขากำลังเล่นเปียโนให้ฟัง ถ้ามีใครพูดคุยและหัวเราะคิกคัก เขาจะโกรธมากและเลิกเล่น แล้วเดินหนีไปเฉยๆ แต่ก็ไม่มีใครดูหมิ่นดูแคลนหรือแสดงอากัปกิริยารังเกียจเขา ทุกคนพากันมองข้ามสิ่งเหล่านี้โดยไม่เอาใจใส่ เพราะนิยมในความเป็นอัจฉริยะทางดนตรีของเขา
ตั้งแต่ ค.ศ. 1800 เป็นต้นมา บีโธเฟนก็เปลี่ยนไปเอาดีและก้าวหน้าในทางแต่งเพลง เริ่มต้นด้วยเพลง Kreutzer Sonata สำหรับไวโอลิน The Moonlight และ Pathetic Sonata และเพลงคอนเชอร์โตอีก 3 เพลงสำหรับเปียโน นับเป็น 6 เพลงแรกที่ใช้เล่นกับเครื่องดนตรีสำหรับเล่น 4 คน และเริ่มแต่งเพลงซิมโฟนี จากการแต่งซิมโฟนีอันดับ 1 และ 2 ทำให้เขาได้พบแนวใหม่สำหรับที่จะแต่งเพลงอันดับต่อๆ ไป โดยเห็นช่องทางที่จะใส่อารมณ์และความรู้สึกลงไปได้อย่างเต็มที่ เพลงที่บีโธเฟนแต่งเป็นเพลงที่แสดงออกมาอย่างเสรี แหวกแนว ในระยะแรกที่เพลงของเขาออกสู่ประชาชน ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา เช่นว่า ?นักดนตรีที่นอกแบบแผนเป็นอันตรายต่อศิลปะทางดนตรี? แต่เขาก็ไม่แยแสว่าใครจะว่าอย่างไร และในตอนที่เขามีอายุได้ 31 ปี หูของเขาก็เริ่มมีอาการผิดปกติ ริ่มมีอาการปวดและอื้อจนขึ้น เจ็บปวดรวดร้าวทำให้เกิดความทนทุกข์ทรมานใจเขาเป็นอย่างยิ่ง หมอได้แนะนำให้เขาไปพักผ่อนตามหมู่บ้านแถบชานเมือง และในที่สุดเขาก็ไม่สามารถได้ยินเสียงใดๆอีกเลย
ในตอนแรกเขาท้อใจและสิ้นหวังจนเกือบจะฆ่าตัวตายไปแล้ว แต่ท้ายที่สุดเขาก็คิดได้และหันมาสู้อีกครั้ง แม้ว่าการสูญเสียประสาททางการได้ยินนั้น จะเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดสำหรับชีวิตนักดนตรี เขาได้ตั้งปณิธานว่า ?ฉันจะไม่ยอมสยบให้แก่ความเคราะห์ร้ายเป็นอันขาด และความพิการจะดึงตัวฉันให้ตกต่ำไม่ได้? จากแรงบันดาลใจอันนี้เอง ทำให้เขาตัดสินใจกลับจากเมืองไฮลิเกนสตัดท์สู่เวียนนาอีกครั้ง ถึงแม้ว่าหูของเขานั้นจะฟังเสียงดนตรีไม่ได้ แต่เขาก็สามารถฟังได้ด้วยญาณของนักดนตรีและทุกอย่างที่เขาต้องประสบอยู่ก็ถูกถ่ายทอดเป็นเสียงดนตรี ช่วงภาวะรันทดใจหลังจากเขากลับมาสู่เวียนนา แล้วก็หันมาจับงานแต่งซิมโฟนีอีก ซึ่งเป็นซิมโฟนี อันดับที่ 3 ที่มีชื่อว่า ?เอรอยกา? (The Eroica Symphony) เป็นเพลงที่แสดงถึงความรู้สึกบูชาในวีรบุรุษ เพลงนี้นับเป็นเพลงที่เปิดศักราชใหม่แห่งโลกดนตรีถือเป็นสัญลักษณ์ของเพลงแบบโรแมนติกที่ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้ละทิ้งเพลงแบบคลาสสิกและแนวของโมสาร์ทและไฮเดินเสียสิ้นเชิง เพลงของบีโธเฟนได้ใส่อารมณ์และความรู้สึกอย่างรุนแรงลงไปด้วย จึงนับว่าบีโธเฟนเป็นผู้สร้างแนวใหม่ขึ้นและเป็นรากฐานของเพลงซิมโฟนีในกาลต่อมา
บีโธเฟนได้แต่งอุปรากร (Opera) ขึ้นเรื่องหนึ่งใน ค.ศ. 1805 ชื่อ Fidelio ขณะที่พักอยู่ในเวียนนาซึ่งเป็นอุปรากรเรื่องเดียวในชีวิตของเขา ใน ค.ศ. 1806 เขาเริ่มจับปากกาแต่งซิมโฟนีอีก นับเป็นเพลงซิมโฟนีอันดับที่ 4 แต่งขณะที่เขาตกอยู่ในอารมณ์ของความรัก กับน้องสาวของเพื่อน เธอชื่อ เทเรเซ ฟอน บรุนสวิค (Therese Von Brunsvik) ทั้งสองมีความรักต่อกันมาก แต่ประเพณีขวางกั้น เพราะฝ่ายหญิงเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์คนหนึ่งของฮังการีจะแต่งงานกับคนธรรมดาไม่ได้ เพราะจะเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนทั้งหลาย ในระยะนี้บีโธเฟนก็ใช้เวลาแต่งเพลง Rusumoffsky Quartets (Op. 59) ไปด้วย เพลงซิมโฟนีอันดับ 4 สำเร็จลงในปี ค.ศ. 1807 และได้นำออกแสดงครั้งแรกที่วัง Lobkowitz จากนั้นก็เริ่มแต่งเพลงซิมโฟนีอันดับ 5 พร้อมกันนั้นก็ได้แต่งเพลง Overture Coriolan ในค.ศ. 1808 ซิมโฟนีอันดับที่ 5 ก็เสร็จสมบูรณ์ และได้แต่งซิมโฟนีที่มีชื่อว่า Pastoral Symphony ซึ่งนับเป็นอันดับ 6 ซิมโฟนี้อันนี้แต่งขึ้นจากความรู้สึกที่มีความรักในธรรมชาติ จากความทรงจำที่ได้พบเห็นมาจากการท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เมื่อเขาเสนองานชิ้นนี้ต่อประชาชน ก็ปรากฏว่าได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม ใน ค.ศ. 1812 บีโธเฟนได้แต่งซิมโฟนีอันดับ 7 และเสร็จสมบูรณ์ในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นปีที่ยุโรปกำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม นโปเลียนกรีฑาทัพเข้ายึดกรุงเวียนนา บีโธเฟนเดินทางไปที่ Baden, Teplitz, Karlsbad, และ Franzensbrunn ไปพบกับเกอเธ่ (Goethe) สหายต่างวัย หลังจากนั้นเขาเริ่มแต่งซิมโฟนีอันดับ 8 ขณะที่เขาเดินทางไปเมือง Teplitz และไปเสร็จสิ้นลงที่เมือง Linz ในปี ค.ศ. 1812 ต่อมาในปี ค.ศ. 1813 ได้แต่งเพลง Cantata Der Glorrerche Augenblick และในปีนี้เขาก็ได้นำเอาซิมโฟนีอันดับ 7 ออกแสดงเป็นครั้งแรกแสดง ณ มหาวิทยาลัยแห่งเวียนนา เพื่อเก็บเงินช่วยเหลือทหารออสเตรียนและบาวาเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากการสงคราม ในปี ค.ศ. 1814 ก็นำซิมโฟนีอันดับ 8 ออกแสดงเป็นครั้งแรก
เดือนมกราคม ค.ศ. 1815 แสดงคอนเสิร์ต ณ กรุงเวียนนา ต่อมาอีกไม่นานนัก น้องชายที่ชื่อคาร์ลก็ถึงแก่กรรม คาร์ลได้ฝากฝังลูกชายให้บีโธเฟนดูแลร่วมกับภรรยาหม้ายของเขา แต่บีโธเฟนต้องการจะคุ้มครองดูแลแต่ผู้เดียว ทางฝ่ายแม่ของเด็กก็ไม่ยินยอม จึงหาวิธีต่างๆ ถึงกับเกิดฟ้องร้องกันในโรงศาล ในที่สุดบีโธเฟนก็เป็นฝ่ายชนะความ ได้หลานชายมาอยู่ในความคุ้มครอง เมื่อได้หลานชายมาแล้วแทนที่เขาจะให้ความอบอุ่นและความสุขแก่เด็ก เขากลับทำทารุณกรรมต่างๆ ต่อหลานชาย เมื่ออยู่ด้วยกันได้นาน 4 ปี หลานชายก็ทนบีบคั้นไม่ไหวจึงหนีไปอยู่กับแม่ แต่บีโธเฟนก็ติดตามเอากลับมาอีกจนได้ สะท้อนให้เห็นความรุนแรงเก็บกดลึก ๆ ในนิสัยของเขา
บีโธเฟนเริ่มแต่งซิมโฟนีอันดับ 9 ในปี ค.ศ. 1817 ซึ่งนับว่าเป็นงานชิ้นเยี่ยมและยิ่งใหญ่ของเขา (Mammoth Ninth Symphony) เขาใช้เวลาเขียนถึง 6 ปี คือมาเสร็จเอาเมื่อ ค.ศ. 1823 และในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1824 บีโธเฟนก็ได้นำเพลงซิมโฟนีอันดับ 9 อันยิ่งใหญ่ของเขาออกแสดงเป็นครั้งแรก หนังสือพิมพ์ในกรุงเวียนนาลงข่าวการแสดงครั้งนี้อย่างครึกโครม บีโธเฟนกำกับเพลงด้วยตนเอง ในท่ามกลางวงดนตรีอันมหึมา ซึ่งประกอบด้วยนักดนตรีและเครื่องดนตรีนับร้อย ทั้งนักร้องเดี่ยวและนักร้องหมู่อีกหลายสิบคน มีผู้เข้าฟังการแสดงครั้งนี้อย่างล้นหลาม เมื่อการเล่นกระบวนที่หนึ่งได้เริ่มขึ้น เสียงเพลงจากชีวิตของเขาก็กระหึ่มไปทั่วบริเวณ พาผู้ฟังให้เคลิบเคลิ้มเหมือนถูกมนต์สะกด เมื่อกระบวนที่ 1 ได้จบลง เสียงปรบมือและโห่ร้องแสดงความชื่นชมจากผู้ฟังก็ดังขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหว แต่บีโธเฟนผู้เดียวเท่านั้นที่ไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้นเลย ยังคงนิ่งเฉยอยู่ กระบวนที่ 2 ก็ได้เริ่มขึ้น ผู้ฟังเงียบกริบเช่นเคย จากนั้นก็เป็นกระบวนที่ 3 ? 4 และต่อไปอีกจนกระทั่งจบเพลง ผู้ฟังยังเงียบอยู่ชั่วครู่ จากนั้นเสียงตะโกนโห่ร้องและเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีต่อความสำเร็จอย่างงดงามครั้งนี้ ก็ดังขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหวอยู่เป็นเวลานาน แต่บีโธเฟนผู้กำกับเพลง ยังคงยืนหันหลังให้แก่ผู้ฟังเฉยอยู่ สายตาจับจ้องอยู่ที่แผ่นโน้ตเพลงหน้าสุดท้าย นักร้องหญิงคนหนึ่งสังเกตเห็นเช่นนั้นจึงสะกิดเขาเบาๆ ให้หันหน้ามาทางประชาชนคนฟัง จึงทำให้เขาเห็นมือและใบหน้าที่แสดงความชื่นชมยินดีต่องานชิ้นนี้ของเขา เขารู้สึกตื้นตันใจมากจนน้ำตาไหลอาบแก้มทั้งสองข้าง เขาโค้งศีรษะรับด้วยความปลื้มใจที่สุด นี่คือการปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้าย
ในชีวิตอันแสนจะระทมขมขื่นของนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่นี้ เขาดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นโสดตลอดชีวิต ความจริงเขาเคยมีความรักหลายครั้ง แต่ละครั้งที่เขารักผู้หญิงคนใดเขาก็อุทิศผลงานที่เขาแต่งขึ้นในระยะนั้นๆ ให้ทุกคน เขาเคยมีความรักฝังใจอย่างมากอยู่ครั้งหนึ่งซึ่งจากหลักฐานที่เป็นจดหมายรักที่ค้นพบในระหว่างกองกระดาษบนโต๊ะในห้องของเขาหลังจากที่เขาได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ส่วนชีวิตในด้านครอบครัว เขามักกล่าวอยู่เสมอว่า ?เป็นครอบครัวที่เปรียบเสมือนแพแตก? ทุกคนพี่ๆ น้องๆ ต่างพยายามเอาตัวรอด บีโธเฟนมีชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ มาอย่างนี้ตลอดชีวิต เขาเกิดในยุคของเกอเธ่ และวิลเลอร์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์และนักกวีผู้ยิ่งใหญ่ และบีโธเฟนกับเกอเธ่ ก็เป็นเพื่อนสนิทสนิมกันมาก ถึงแม้ว่าเกอเธ่จะแก่กว่าเขาถึง 21 ปีก็ตาม บีโธเฟนให้ความนับถือแก่เพื่อนคนนี้อย่างมาก เกอเธ่คนเดียวเท่านั้นที่สามารถจะหยุดยั้งอารมณ์ร้ายของเขาได้
หลังจากที่แสดงซิมโฟนีอันดับที่ 9 ผ่านไปราวๆ 2 ปี คือในปี ค.ศ. 1826 สุขภาพของเขายิ่งทรุดโทรมลงเรื่อยๆ หลานชายที่มาอยู่ด้วยก็จะทำอัตนิวิบาตรกรรม แต่มีคนเห็นเสียก่อน จึงถูกนำขึ้นศาลฐานพยายามฆ่าตัวตาย หลานชายได้สารภาพว่า เขาถูกลุงบีบบังคับมาก ไม่มีทางอื่นที่จะหนีความทรมานนี้ได้นอกจากฆ่าตัวตาย บีโธเฟนจึงส่งหลานชายไปอยู่กับโจฮันน์ น้องชายอีกคนหนึ่งของเขา ขณะที่นำหลานชายไปส่งให้น้องชาย วันนั้นอากาศหนาวจัด บีโธเฟนนั่งรถฝ่าความหนาวกลับสู่เวียนนา ทำให้เขาเป็นหวัดอย่างแรงและกลายเป็นโรคปอดบวม พอหายจากโรคปอดบวมก็เป็นโรคดีซ่านและโรคท้องมานติดตามมา เขาต้องนอนซมซานเพราะโรคนี้อยู่หลายเดือน หมอได้ทำการรักษาจนสุดความสามารถ เขานอนซมอยู่บนเตียงหลายเดือน พยายามแต่งซิมโฟนี่หมายเลข 10 แต่ไม่ลุล่วง ต่อมาในบ่ายวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1827 เขาได้สิ้นใจลงในช่วงอากาศปั่นป่วนรุนแรงขณะที่เขามีอายุได้เพียง 57 ปี
เรื่องและภาพ จากอินเตอร์เน็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น