"ความรู้ ไม่ใช่ปัญญา" (Knowledge is not wisdom.) --ไอน์สไตน์--

ความรู้เป็นเรื่องของความความคิดตาม ประสบการณ์ การทดลอง หรือองค์แห่งสาระ มากมายตำรา มาให้อ่านและเพิ่มพูน แต่ปัญญาเป็นเรื่องทางจิตใจ ความเข้าใจ ประกอบโดยสติและรู้เท่าทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการรู้เท่าทันตนเอง ตรงนี้เอง "ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด" ไม่ได้เกิดจากความรู้เยอะ แต่น่าจะเกิดจากมีปัญญาไม่พอ ที่จะประคองชีวิตให้พ้นผ่านอุปสรรค (ขยายความจาก "ความรู้ ไม่ไช่ปัญญา - Khowledge is not wisdom" คำจาก ไอน์สไตน์)



วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ลูกนิมิตฝังทำไม? ให้สงฆ์กำหนดเขตให้ทางบ้านเมืองไว้จึง "ฝั่งลูกนิมิต" ลงดิน แล้วนำแท่นหินเรียก"ใบสีมา"มาวางทับ เรียกพิธี “ฝังลูกนิมิตผูกสีมา” // โบสถ์เป็นอะไรกับสีมา?? สีมาเป็นเขตหรือแดนให้พระสงฆ์ประชุมกัน พุทธกาลอาจมีฝนลมแรงจึงสร้างอาคารตรงจุดสีมา เรียก อุโปสถาคาร (อุโบสถ หรือ โบสถ์) // ทำไมวัดต้องผูกฯสีมา? วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา คือ ในหลวงฯราชานุญาตมีผลทางวินัยและกม. ยกเว้นการเก็บภาษีอากร มีอภิสิทธิ์ เสมอสถานฑูต

ทำไมจึงฝังลูกนิมิต?



"อุโบสถ วัดวชิรธรรมปทีป นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา"


พัทธสีมา คือ เขตแดนที่พระสงฆ์ดำเนินการกำหนดขึ้น ต้องจัดตั้งนิมิต คือ สิ่งที่เป็นเครื่องหมายกำหนดเอาไว้ อพัทธสีมา คือ เขตแดนที่สงฆ์ไม่ได้ผูก ไม่ต้องจัดนิมิตขึ้นใหม่ เพราะมีนิมิต คือ เครื่องหมายที่บ้านเมืองจัดวางไว้แล้ว หรือเป็นไปตามวิธีวัดเขตป่าหรือน่านน้ำตามธรรมชาติ

ปัจจุบัน นิมิตที่ใช้กำหนดเขตพัทธสีมา นิยมใช้ก้อนศิลาขนาดพอสมควรและนิยมฝังลงในดิน ให้เคลื่อนจากที่ไม่ได้ จึงเรียกกันว่า “ฝังลูกนิมิต” และนิยมทำแผ่นหิน แผ่นอิฐ หรือแผ่นไม้ก่อวางไว้เหนือหลุม เป็นที่หมายรู้ว่า ลูกนิมิตอยู่ตรงที่นั้น จึงเรียกแผ่นหินเป็นต้นว่า “ใบสีมา”

เมื่อดำเนินการกำหนดเขตพัทธสีมา พระสงฆ์จะประชุมกำหนดเขตด้วยการฝังลูกนิมิตลงในหลุม และประกาศความตกลงไว้เป็นหลักฐาน พิธีการนี้ จึงมีชื่อเรียกว่า “การฝังลูกนิมิตผูกสีมา”



โบสถ์เป็นอะไรกับสีมา??




สีมาเป็นเพียงเขตหรือแดน พระสงฆ์ประชุมกันในเขตหรือแดนนั้น ก็เป็นอันกระทำสังฆกรรมได้ แต่บางทีก็ไม่สะดวก เพราะไม่มีเครื่องกันลมกันแดดกันฝน พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้สร้างอาคารสำหรับเป็นที่ประชุมขึ้น อาคารสำหรับประชุมหรือหอประชุมนี้เอง เรียกว่า โบสถ์ เรียกให้เต็มศัพท์ว่า อุโบสถ

ความจริง คำว่า “อุโบสถ” เป็นชื่อของสังฆกรรมอย่างหนึ่ง คือการที่พระสงฆ์ประชุมกันสวดปาติโมกข์ ทบทวนการประพฤติปฏิบัติพระวินัยตามที่กำหนดไว้ในสิกขาบท หรือศีล ๒๒๗ ข้อ ทุกครึ่งเดือน เป็นการประชุมที่สม่ำเสมอบ่อยครั้งกว่าการประชุมทำสังฆกรรมอย่างอื่น เลยเรียกชื่อหอประชุมสำหรับทำสังฆกรรมนี้ว่า อุโปสถาคาร หรืออุโปสถัคคะ แปลว่า อาคารที่ทำอุโบสถ หรือ โรงทำอุโบสถ ในภาษาไทยเราเรียกสั้นเข้าทุกที จากอุโปสถาคาร หรืออุโปสถัคคะ กลายเป็น อุโบสถ แล้วก็กลายเป็น โบสถ์

โบสถ์ หรือ อุโบสถนี้ ต้องใหญ่พอจุพระสงฆ์นั่งประชุมกัน ๒๑ รูปขึ้นไป จะสร้างไว้ที่ตรงไหนก็ตาม ให้อยู่ภายในสีมาเป็นใช้ได้ เพราะต้องการให้เป็นสถานที่ประชุมภายในเขตแดนของสงฆ์ ถ้าพัทธสีมาใหญ่มาก โบสถ์ก็ตั้งอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งภายในพัทธสีมานั้น พัทธสีมาอาจเล็กลงมา จนเท่ากับตัวโบสถ์พอดี แต่จะให้เล็กกว่าตัวโบสถ์ไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้หลงทำสังฆกรรมนอกพัทธสีมา ปัจจุบัน นิยมผูกพัทธสีมาเท่ากับตัวอาคารพอดี เรียกว่า ผูกสีมาเฉพาะโรงอุโบสถ



ผูกสีมามีผลดีอย่างไร?



จะเป็นพัทธสีมา (เขตแดนที่สงฆ์ตกลงกำหนดขึ้นเอง) หรือเป็นอพัทธสีมา (เขตแดนที่ถือตามบ้านเมืองหรือตามธรรมชาติ โดยสงฆ์ไม่ได้กำหนดขึ้นเอง) ก็ตามก็ใช้ประกอบพิธีบวชนาค กรานกฐิน และทำสังฆกรรมอื่นๆ ได้เหมือนกัน

หากยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ก็ยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์ คือ เป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์เท่านั้น เมื่อได้รับพระราชทานที่เป็นวิสุงคามสีมาแล้ว พระสงฆ์ก็จะผูกสีมาลงภายในให้เป็นพัทธสีมาได้

แต่อพัทธสีมา มีข้อเสียเปรียบตรงที่ว่า พระสงฆ์ไม่เป็นตัวของตัวเองโดยสมบูรณ์ และยากที่จะดูแลควบคุมการประชุม เพราะจะต้องให้พระภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือเมืองนั้น มีเท่าไร ต้องให้เข้าประชุมทั้งหมด ถ้าขัดข้องมาไม่ได้ เช่น เจ็บไข้ ก็ต้องมอบฉันทะมา

ถ้าหากปรากฏว่า เมื่อพระสงฆ์ประชุมกันอยู่ มีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในเขตนั้น ไม่ได้เข้าที่ประชุม จะเป็นการหลงเหลืออยู่ ไม่รู้ หรือเป็นพระอาคันตุกะเดินทางผ่านเข้ามาก็ตาม การบวช การทอดกฐิน หรือสังฆกรรมใดๆ ที่ทำอยู่นั้น ก็จะกลายเป็นโมฆะ เรียกว่าเป็นกรรมวิบัติถึงบวชแล้ว ก็ไม่เป็นอันบวช กรานกฐินก็ไม่เป็นอันกราน ดังนี้เป็นต้น

เพื่อให้เป็นหลักฐานที่มั่นคง และควบคุมการประชุมได้โดยสมบูรณ์ จึงนิยมสีมาประเภทพัทธสีมา เมื่อสร้างวัดเป็นหลักฐานแล้ว จึงถือว่าควรมีการฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมาให้เป็นที่เรียบร้อย


การผูกสีมามีความสำคัญต่อฐานะวัด อย่างไร?


ตามกฎหมายคณะสงฆ์ ในประเทศไทย (พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕) แบ่งวัดเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
๒. สำนักสงฆ์

วิสุงคาม คือ ที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินแปลงดินออกจากเขตเมืองตามปกติ พระราชทานให้เป็นสิทธิแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง

วิสุงคามสีมา คือ เป็นที่ยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร มีอภิสิทธิ์หลายประการ ดังเช่นสถานทูต เป็นตัวอย่าง แต่มาในบัดนี้ คงเทียบได้เพียงการพระราชทานอนุญาตที่ป่าไม้หรือเหมืองแร่ เป็นเขตสัมปทานหรือการอนุญาตให้กรรมสิทธิ์ครองในที่ดินนั้นๆ โดยถูกต้องตามฐานะที่เป็นองค์การทางศาสนา

การพระราชทานที่ให้เป็นวิสุงคามสีมานี้ ตกมาเป็นธรรมเนียมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวัดวิสุงคามสีมามีความสำคัญทั้งในด้านวินัยและกฏหมาย ปราชญ์ฝ่ายศาสนาในวงราชการไทยเคยชี้ว่า การรับพระราชทานวิสุงคามสีมา หมายถึง การเลื่อนฐานะของวัดเพื่อประโยชน์ในทางพระวินัย เพื่อจะให้ได้มีการผูกพัทธสีมา ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม เปรียบเหมือนการเลื่อนฐานะของบุคคลธรรมดาจากฐานะผู้เยาว์เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ




ตัดตอนมาจากเรื่องเต็มๆ ที่ http://www.vajira.org/?name=knowledge&file=readknowledge&id=200
อนุสรณ์งานฉลองอุโบสถ-ศาลา พระพุทธมงคลวิมล ดี.ซี.วัดไทยกรุงวอชิงตันดี.ซี.๒๕๓๘
เพิ่มเติม : ใบเสมาโบราณของไทย http://www.oknation.net/blog/print.php?id=222148
รูปภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น: