"ความรู้ ไม่ใช่ปัญญา" (Knowledge is not wisdom.) --ไอน์สไตน์--

ความรู้เป็นเรื่องของความความคิดตาม ประสบการณ์ การทดลอง หรือองค์แห่งสาระ มากมายตำรา มาให้อ่านและเพิ่มพูน แต่ปัญญาเป็นเรื่องทางจิตใจ ความเข้าใจ ประกอบโดยสติและรู้เท่าทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการรู้เท่าทันตนเอง ตรงนี้เอง "ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด" ไม่ได้เกิดจากความรู้เยอะ แต่น่าจะเกิดจากมีปัญญาไม่พอ ที่จะประคองชีวิตให้พ้นผ่านอุปสรรค (ขยายความจาก "ความรู้ ไม่ไช่ปัญญา - Khowledge is not wisdom" คำจาก ไอน์สไตน์)



วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วัดหลวงที่มีฐานะสูงสุด(ราชวรมหาวิหาร)มี 6 วัด วัดพระเชตุพนฯ วัดมหาธาตุ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดอรุณราชวราราม วัดพระปฐมเจดีย์ และวัดพระพุทธบาท//วัดพระแก้วมิได้จัดอยู่ในชั้นใด เพราะมีแต่เขตพุทธาวาสไม่มีพระสงฆ์ ”วัด” มาจาก วตวา(บาลี)=ที่สนทนาธรรม หรือ วัตร=กิจปฏิบัติ/หน้าที่ของภิกษุ


มีใครเคยสงสัยบางหรือไม่ว่า เหตุใดวัดบางแห่งของไทยจึงมีคำสร้อยต่อท้ายที่แตกต่างกันไป ดังเช่น "ราชวรมหาวิหาร" "วรมหาวิหาร" "วรวิหาร" ฯลฯ หรือบางวัดไม่มีคำสร้อยต่อท้ายเลย คำถามนี้เป็นสิ่งที่ผมสงสัยมานาน และทำให้ผมต้องการหาคำตอบและข้อมูลเพื่อนำมาเผยแพร่ในที่แห่งนี้ เพื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้างตามสมควร




ลักษณะของวัดไทยเมื่อแบ่งตามประเภทตามสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ วัดซึ่งได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมา คือวัดที่มีอุโบสถในการประกอบสังฆกรรม (วิสุงคามสีมา คือ ที่ดินที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่วัดเพื่อใช้สร้างอุโบสถ)และสำนักสงฆ์ (หรือบางแห่งอาจเรียกเป็นสำนักปฏิบัติธรรม) ซึ่งเป็นวัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงยังไม่มีโบสถ์






การแบ่งประเภทของวัดไทยอีกวิธีหนึ่ง จะแบ่งได้ 3 ประเภท คือ พระอารามหลวง (วัดหลวง) , วัดราษฎร์ และวัดร้าง


1. พระอารามหลวง หรือวัดหลวง คือวัดที่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้าง และ/หรือทรงปฏิสังขรณ์ หรืออาจเป็นวัดที่มีผู้สร้างถวายพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง เช่น วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี , วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร จ.สิงห์บุรี , วัดหลักสี่ เป็นต้น

2. วัดราษฎร์ คือ วัดที่มีผู้สร้างขึ้น หรือวัดโบราณที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ แต่ยังไม่ได้ถวายเป็นพระอารามหลวง เช่น วัดต้นสน จ.อ่างทอง , วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย เป็นต้น

3. วัดร้าง คือ วัดที่ไม่มีพระจำพรรษา หรือวัดที่ทรุดโทรมมากจนพระไม่สามารถจำพรรษาได้ หากบูรณะปฏิสังขรณ์และมีพระมาจำพรรษา อาจจะได้รับการยกฐานะเป็นวัดก็ได้ เช่น วัดไชยวัฒนาราม จ.อยุธยา , วัดโพธิประทับช้าง จ.พิจิตร เป็นต้น



ในที่นี้ผมขอกล่าวถึงวัดที่เป็นพระอารามหลวง ซึ่งผมได้กล่าวถึงความหมายไปแล้วในข้างต้น ผมจึงขอกล่าวถึงการแบ่งลำดับชั้นของพระอารามหลวง ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงจัดแบ่งลำดับชั้นของพระอารามหลวงเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ. 2458 ไว้ดังนี้

1.พระอารามหลวงชั้นเอก คือวัดที่มีความสำคัญ มีเจดีย์สถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดทีมีเกียรติสูง หรือวัดประจำรัชกาล มี 3 ชนิดย่อยดังนี้

1.1 ราชวรมหาวิหาร หรือที่เรีกว่า "พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ" เป็นพระอารามหลวงที่มีฐานะสูงสุด มี 6 วัดในไทย คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร , วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร , วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร , วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร , วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี และวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
1.2 วรมหาวิหาร เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน , วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่, วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ. นครพนม เป็นต้น
1.3 ราชวรวิหาร เช่น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร , วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร อยุธยา วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

2.พระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญ มีพระพุทธรูปสำคัญ เป็นวัดที่มีเกียรติ มี 4 ชนิดย่อย ดังต่อไปนี้

2.1 ราชวรมหาวิหาร มีเพียง 2 วัดในกทม.และในไทย คือ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
2.2 วรมหาวิหาร เช่น วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดจักวรรดิ์ราชาวาสวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นต้น
2.3 ราชวรวิหาร เช่น วัดราชบูรณะราชวรวิหาร วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร วัดชัยพฤกษ์มาลาราชวรวิหาร วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
2.4 วรวิหาร เช่น วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดพิชยญาติการามวรวิหาร วัดไชโยวรวิหาร จ.อ่างทอง วัดพนัญเชิงวรวิหาร อยุธยา

3. พระอารามหลวงชั้นตรี คือ วัดที่มีเกียรติ วัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญ วัดที่มีพระพุทธรูปสำคัญ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดที่มีความสำคัญระดับรองลงมา แบ่งเป็น 3 ชนิดย่อย คือ
ราชวรวิหาร เช่น วัดบวรมงคลราชวรวิหาร วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร วัดหนังราชวรวิหาร เป็นต้น
วรวิหาร เช่น วัดสามพระยาวรวิหาร วัดตรีทศเทพวรวิหาร วัดราชผาติการามวรวิหาร วัดกษัตราธิราชวรวิหาร อยุธยา วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร จ.สิงห์บุรี วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร จ.นครปฐม วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

ชนิดสามัญ คือ ไม่มีคำสร้อยต่อท้ายชื่อวัด เช่น วัดสร้อยทอง วัดหลักสี่ วัดหัวลำโพง วัดไร่ขิง จ.นครปฐม วัดจันทน์กะพ้อ จ.ปทุมธานี วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี เป็นต้น

สรุป
การกำหนดแบ่งชนิดของพระอารามหลวงเริ่มมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ วัดหลวงที่มีฐานะสูงสุด คือ ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหารมีรวมทั้งหมด ๖ วัด อยู่ในกรุงเทพฯ ๔ วัด คือ วัดพระเชตุพนฯ วัดมหาธาตุ วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดอรุณราชวราราม ที่เหลืออีก ๒ วัดนั้นอยู่ในต่างจังหวัด ได้แก่ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีเป็นที่นาสังเกตว่า วัดพระแก้วมิได้จัดอยู่ในชั้นใดชั้นหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นวัดที่มีแต่เขตพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอย่างวัดอื่นทั่วไป




ข้อมูลอ้างอิงและที่มา
บทความเรื่อง "พระอารามหลวง" โดย http://www.dhammathai.org/watthai/royalwat.php
กูรูสนุกสรุปแบบย่อๆไว้ http://guru.sanook.com/answer/question/%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94/
เพิ่มเติม ความหมายของ...วัด http://board.palungjit.com/f14/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94-202453.html
รูปภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น: