หลักกิโลเมตร
เวลาขับรถเข้ากรุงเทพฯ เขาจะเขียนว่ากรุงเทพฯ 80 ก.ม. ก็เลยอยากรู้ว่าเขาวัดถึงที่ไหนในกรุงเทพฯ สีลมหรือสุขุมวิท และอยากทราบความเป็นมาของหลักกิโลเมตร
ข้อมูลกรมทางหลวงอธิบายเริ่มจากหลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศไทย ว่า หลักกิโลเมตรที่ 0 มีอยู่แห่งเดียวเท่านั้น คือจุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา ดังนั้น จึงไม่มีหลักกิโลเมตรที่ 0 ในแต่ละจังหวัด และการวัดระยะทางไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ก็เริ่มวัดจากหลักกิโลเมตรที่ 0 ณ กรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้น
หลักกิโลเมตร หรือหลักไมล์ คือเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่กำกับด้วยตัวอักษรและตัวเลข ส่วนมากจะเป็นเสาหินหรือเสาปูนเตี้ยๆ แล้วจารึกหรือเขียนตัวอักษรด้วยสี ติดตั้งไว้เป็นระยะๆ เท่ากัน (ทุก 1 กิโลเมตร หรือ 1 ไมล์) ตลอดเส้นทางที่ริมถนนหรือระยะโดยเฉลี่ยตรงกลางถนน จุดประสงค์ของการสร้างหลักกิโลเมตรเพื่อเป็นการบอกผู้เดินทางว่าได้เดินทางมาเป็นระยะทางเท่าใดแล้ว หรืออีกไกลเท่าไรกว่าจะถึงจุดหมาย ส่วนจะเลือกใช้หลักกิโลเมตรหรือหลักไมล์ ขึ้นอยู่กับว่าในประเทศนั้นวัดความยาวในระบบอังกฤษหรือระบบเมตริก
เกี่ยวกับหลักกิโลเมตรในประเทศไทย มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (พหลโยธิน) เมื่อ พ.ศ.2481 ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยวดยานพาหนะบนท้องถนนดังกล่าว คาดว่ามีการสร้างหลักกิโลเมตรไปพร้อมๆ กับการสร้างถนนพหลโยธิน จากที่เมื่อเริ่มแรกนั้นใช้ในจุดประสงค์เพื่อกำหนดค่าบำรุงรักษาเส้นทางของกรมทางหลวง โดยใช้รหัสแขวงที่ปรากฏบนหลักเป็นส่วนแบ่งความรับผิดชอบ
นอกจากนั้น ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการออกโฉนดที่ดินหรือการเวนคืนที่ดิน แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการปรับปรุงถนนหรือการสร้างทางใหม่ หลักกิโลเมตรที่แท้จริงอาจคลาดเคลื่อนไปจากที่ตั้งเดิมจนต้องมีการวัดระยะเพื่อวางหลักใหม่ ทำให้ใช้อ้างอิงตำแหน่งเกี่ยวกับที่ดินไม่ได้ จุดประสงค์สุดท้ายจึงตกไป
หลักกิโลเมตรในประเทศไทยเป็นเสาปูนสี่เหลี่ยม มียอดเป็นสามเหลี่ยมหรือพีระมิด ทาสีขาว หลักกิโลเมตรหนึ่งหลักมีตัวเลขบอกระยะทาง 3 ด้าน คือ ด้านหน้า ด้านขวา และด้านซ้าย โดยด้านหน้าจะเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ กล่าวคือ ถ้าเป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวงจะใช้สัญลักษณ์เป็นตราครุฑ พบได้ตามเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค จังหวัด และอำเภอสำคัญๆ ของประเทศ ในตัวครุฑจะมีหมายเลขทางหลวงปรากฏอยู่ ใต้ตัวครุฑเป็นเลขที่บอกว่าหลักกิโลเมตรนั้นเป็นหลักที่เท่าไหร่
แต่ถ้าเป็นเส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการจะใช้สัญลักษณ์เป็นรูปเทวดาสามองค์ พบได้ตามเส้นทางที่แยกจากทางหลวงแผ่นดินไปตามหมู่บ้านต่างๆ โดยมีระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร
ส่วนด้านขวาและด้านซ้าย มีชื่อสถานที่ เช่น จังหวัด หรืออำเภอ และตัวเลขบอกระยะทางที่เหลือของสถานที่ที่เรากำลังจะผ่านไปบนเส้นทางหลวงนั้นๆ คือบอกระยะทางจากสถานที่ดังกล่าวที่ต้องเดินทางบนถนน
บริเวณถนนบางแห่งที่ไม่สามารถติดตั้งหลักกิโลเมตรได้ เช่น บนสะพาน หรือด้วยเหตุผลอื่นใด จะใช้ป้ายกิโลเมตรติดตั้งไว้แทน มีลักษณะเป็นห้า เหลี่ยมคล้ายหลักกิโลเมตรเมื่อมองจากด้านหน้า แต่มีรายละเอียดคือสัญลักษณ์ของหน่วยงานกับเลขกิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่บนถนนบางสายติดตั้งหลักร้อยเมตร หรือป้ายร้อยเมตร เป็นระยะ เพื่อการวัดระยะทางที่แม่นยำมากขึ้น
อธิบดีกรมทางหลวงให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ หลัก กม.ที่ 0
"หลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศไทย อยู่ที่หัวมุมถนนดินสอ ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" อธิบดีกรมทางหลวง เฉลยคำตอบก่อนย้อนรอยที่มาที่ไปให้ฟังว่า...
"อันที่จริงไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงที่มาและที่ไป หรือเหตุผลการปักหมุดหลักกิโลเมตรที่ 0 ไว้ตรงนี้ แต่สันนิษฐานจากการ บันทึกคำกล่าวของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนกล่าวในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ตอนหนึ่งว่า
"เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆที่จะออกจากกรุงเทพฯไปยังหัวเมือง ก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้..."
นอกจากนั้นแล้ว ก็มีหลักฐานที่เป็นอักษรที่อ้างอิงจากคำกล่าวของ จอมพล ป. ซึ่งได้เขียนไว้ใน อักขรานุกรม ภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1ปี 2506 หน้า 224 ซึ่งเรียบเรียงโดยนายชำนาญ อินทุโศภณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่อ้างประกาศราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 67 เล่มที่ 67 วันที่ 12 ธันวาคม 2493 ว่า...
"ถนน 3 สาย ที่ระบุชื่อข้างบน (ถนนพหลโยธิน, ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรเกษม) ถือจุดเริ่มต้นความยาวจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.พระนคร"
อธิบดีกรมทางหลวง...เฉลยต่อไปว่า เหล่าข้าราชการสมัยนั้น พอได้ฟังคำกล่าวของผู้นำประเทศ ก็ต้องปฏิบัติตาม สร้างหลักทางหลวงขนาดยักษ์ ไว้ ณ หัวมุมถนนดินสอ ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วการปักหลักกิโลเมตรที่ 0 หรือเรียกสั้นๆว่า "กม. 0" เป็นเพียงสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น
"เนื่องจากทางหลวงแผ่นดินสายหลักที่ใช้เป็นโครงข่ายเชื่อมการจราจรระหว่างภาคต่อภาค ล้วนมีจุดเริ่มแรกที่ต่างกัน จะเห็นได้จากข้อมูลของกรมทางหลวงที่ระบุไว้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ 4 สาย ได้แก่ 1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี กทม.ถึง ชายแดนสหภาพพม่า (ด่านพรมแดนแม่สาย) อ.แม่สาย จ.เชียงราย
2. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) จากทางแยกต่างระดับมิตรภาพ อ.เมืองสระบุรี-ชายแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว) อ.เมืองหนองคาย
3. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) จากจุดตัดทางรถไฟสายแม่น้ำ เขตคลองเตย กทม.-ชายแดนราชอาณาจักรกัมพูชา (บ้านหาดเล็ก) อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
และ 4. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากสะพานเนาวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่ กทม.-ชายแดนประเทศมาเลเซีย (ด่านพรมแดนสะเดา บ้านไทย-จังโหลน) อ.สะเดา จ.สงขลา
"แต่การนับเป็นกิโลเมตรที่ 0 หรือจุดเริ่มต้นจริงๆจะวัดจากหลักทางหลวง ตั้งอยู่หัวมุมถนนดินสอ ฝั่งเดียวกับสภาทนายความ และอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขตพระนคร" อธิบดีกรมทางหลวง สรุปคำตอบอย่างชัดเจนในตอนท้าย
อย่างไรก็ดี...หลักฐานที่บันทึกว่า หลักกิโลเมตรที่ 0 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างขึ้นวัน-เดือน-ปีใด โดยช่างฝีมือคนไหน...ก็ไม่ได้ถูกจารึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คนรุ่นหลังๆก็ได้แต่เดาว่า หลักทางหลวงได้สร้างไว้หลังการเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483...อ่านเต็มๆ http://news.mediathai.net/detail_news.php?newsid=58700
ที่มา : กูเกิลกูรู
กรมทางหลวง http://www.doh.go.th/ วิกิฯ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A2
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
"ความรู้ ไม่ใช่ปัญญา" (Knowledge is not wisdom.) --ไอน์สไตน์--
ความรู้เป็นเรื่องของความความคิดตาม ประสบการณ์ การทดลอง หรือองค์แห่งสาระ มากมายตำรา มาให้อ่านและเพิ่มพูน แต่ปัญญาเป็นเรื่องทางจิตใจ ความเข้าใจ ประกอบโดยสติและรู้เท่าทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการรู้เท่าทันตนเอง ตรงนี้เอง "ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด" ไม่ได้เกิดจากความรู้เยอะ แต่น่าจะเกิดจากมีปัญญาไม่พอ ที่จะประคองชีวิตให้พ้นผ่านอุปสรรค (ขยายความจาก "ความรู้ ไม่ไช่ปัญญา - Khowledge is not wisdom" คำจาก ไอน์สไตน์)
วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น